1     2  
กระทรวงเกษตรฯ จี้ติดปัญหาหมอกควันภาคเหนือ พร้อมชี้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรพ้นวิกฤติแล้งนี้ดำเนินการแล้วกว่า 50% คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558 ด้านโครงการตำบลละ 1 ล้านคืบ ท้องถิ่นเร่งเสนอโครงการต่อ คกก.ระดับจังหวัดพิจารณา



          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแผนการบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จํานวน 2 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาด ไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในพื้นที่ภาคเหนือ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกินกว่าค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเริ่มต้นเร็วกว่าปี 2557 ที่แนวโน้มเริ่มสูงขึ้น ขณะที่การพบจุด Hotspot ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพม่า ประเทศไทยพบจํานวน 58 จุด โดยส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ พบจุด hotspot จํานวน 5 จุด โดยมีค่าสูงสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จํานวน 5 จุด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีการติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศเหมาะสมจะปฏิบัติการช่วยเหลือทันที โดยการดัดแปรสภาพอากาศแก้ปัญหาหมอกควัน และการทําฝนหลวง ทั้งนี้ จากการรายงานผลดำเนินงานล่าสุดขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และจ.พิษณุโลกไม่สามารถปฏิบัติการได้ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 % เมฆไม่ก่อตัว
       ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งนั้น ในระยะเร่งด่วน ได้มี การวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง เพื่อการเกษตรกรรม โดยจัดสรรน้ำเพื่อสำรองไว้เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกฤดูฝน และจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง รวมถึงการจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกับมาตรการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 และได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ โครงการซ่อมแซมหรือปรับปรุงคูคลองโดยการจ้างแรงงานเกษตร อันเป็นมาตรการหลัก ที่ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วกว่า 36,000 ราย คิดเป็น 85% จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 44,388 ราย ส่วนมาตรการเสริม ได้มีการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในช่วงภัยแล้ง ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพด้านประมง ด้านปศุสัตว์ การฝึกอบรมภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ตระกูลถั่วและพืชปุ๋ยสด ดำเนินการแล้วกว่า 50% คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558 สำหรับระยะที่ 2 ครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการสร้างรายได้และการพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เมื่อ 27 มกราคม 2558 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ครอบคลุม 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด โดยสนับสนุนงบประมาณตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท นำไปพัฒนาโครงการพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน เน้นการจ้างงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องเป็นการเสนอความต้องการร่วมกันของชุมชน ซึ่งขณะนี้พบว่าอยู่ระหว่างการเสนอโครงเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาระดับจังหวัด โดยคาดว่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อให้มีการเดินหน้าโครงการภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมี.ค.
สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงราย 1107/42 ถนนไกรสรสิทธิ์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000 โทรศัพท์ 053-744-698 โทรสาร 053-744-278 อีเมล์ [email protected]
Copyright © 2019 Chiangrai Provincial Cooperative Auditing Office. All rights reserved. < https://chiangrai.cad.go.th > รองรับการแสดงหน้าเว็บที่สมบูรณ์ผ่าน Chrome และ Mozila Firefox
แผนผังเว็บไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัย | นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | การปฏิเสธความรับผิด