1     2     3  
กระทรวงเกษตรฯ เร่งติดตามแก้ไขปัญหาหมอกควันทางภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง



          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งติดตามแก้ไขปัญหาหมอกควันทางภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นวิกฤตในช่วงแล้งนี้ ดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงแผนการบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จํานวน 2 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก โดยให้มีการติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศเหมาะสมจะปฏิบัติการช่วยเหลือทันที โดยการดัดแปรสภาพอากาศแก้ปัญหาหมอกควัน และการทําฝนหลวง ทั้งนี้ มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมด 3 แผน ได้แก่ แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558 เป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสม เป็นระยะสั้น ๆ และมีการเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการ ฝนหลวงประจำปี ระยะที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2558 เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ และระยะที่ 3 ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2558 เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรม แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเน้นเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน และแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เป็นการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ
          ด้าน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง ว่า ในระยะเร่งด่วน ได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง เพื่อการเกษตรกรรม โดยจัดสรรน้ำเพื่อสำรองไว้เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกฤดูฝน และจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกในหน้าแล้ง รวมถึงการจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกับมาตรการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 และได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ โครงการซ่อมแซมหรือปรับปรุงคูคลอง โดยการจ้างแรงงานเกษตรกร อันเป็นมาตรการหลัก ที่ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วกว่า 36,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 85 จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 44,388 ราย ส่วนมาตรการเสริม ได้มีการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในช่วงภัยแล้ง ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพด้านประมง ด้านปศุสัตว์ การฝึกอบรมภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ตระกูลถั่วและพืชปุ๋ยสด ดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้