กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พลิกฟื้นธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตร 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มุ่งเสริมความแข็งแกร่งด้วยกลไกการบัญชีรองรับการเติบโตจากธุรกิจสหกรณ์ที่มีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 14,000 ล้านบาท ย้ำ สร้าง 4 โอกาสแห่งการปรับเปลี่ยน นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรของไทยในทุกวันนี้ มีระบบที่ซับซ้อนตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างการผลิต การตลาด และการแปรรูป รวมไปถึงมีความเชื่อมโยงโอกาสทางองค์ความรู้ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สามารถสร้างกำไรเพื่อช่วยเหลือสมาชิกและชุมชน กลไกการบัญชีจึงมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสแก่สถาบันเกษตรกร สามารถเตือนภัยการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างทันท่วงที และสร้างวินัยทางการเงินแก่สมาชิก รวมถึงเครือข่ายกลุ่มบุคคลต่าง ๆ กล่าวได้ว่ากลไกการบัญชีจะนำมาซึ่งการสร้าง 4 โอกาสแห่งการปรับเปลี่ยน ทั้งในด้านการเข้าถึงโอกาสองค์ความรู้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ เข้าถึงโอกาสการรวมกลุ่ม เข้าถึงโอกาสทุนดำเนินงาน และเข้าถึงโอกาสระบบตลาด ล่าสุด กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีกำหนดเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกการบัญชีระดับภาค ใน 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ณ สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด จังหวัดลำพูน โดยมีสหกรณ์ภาคการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 126 แห่ง โดยมุ่งหวังให้สหกรณ์และเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินธุรกิจ บูรณาการ ความร่วมมือโดยผ่านกลไกการบัญชี สำหรับภาพรวมภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสหกรณ์ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา ในปี 2549 2551 พบว่า มีสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 371 แห่ง จำนวนสมาชิก เพิ่มจากปี 2549 ซึ่งมีเพียง 581,805 คนเป็น 643,577 คน ทุนดำเนินงาน 12,526.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,370.59 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 มีเม็ดเงินหมุนเวียนจากธุรกิจของสหกรณ์ 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ให้กู้ยืมเงิน จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวบรวมผลผลิต แปรรูป และให้บริการ มีมูลค่าถึง 14,436.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 2,173.69 ล้านบาท สร้างรายได้รวม 7,335.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 1,904 ล้านบาท สามารถสร้างเงินออมให้สมาชิกเฉลี่ย 8,881 บาทต่อคน ...นอกจากนี้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนการจัดการธุรกิจของสถาบันเกษตรกรอย่างมีมาตรฐาน โดยมีกลไกการบัญชีนำไปสู่ 4 โอกาสแห่งการปรับเปลี่ยน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนากระบวนการรวมกลุ่มของสหกรณ์ภาคการเกษตรตามขั้นตอนของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน และผลักดันการจัดการธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรบนพื้นฐานของการให้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง... นายอนันต์กล่าว |