1     2     3  
สตส.เชียงราย ร่วมจัดงานวันสาธิตการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เสริมความรู้แก่เกษตรกร นำไปปรับใช้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต



        วันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2561 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงราย โดยนางจีราภรณ์ ศิริสุข นักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการพิเศษ ร่วมจัดงานวันสาธิตและแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ณ บ้านป่าซางใต้ หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ได้มีความรู้ทางวิชาการในเรื่อง การปลูก การดูแลรักษา การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู การเก็บเกี่ยว การตลาด ตลอดจนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวความคิดซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างเครือข่ายให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น
          โดยมี นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอแม่ลาว พร้อมด้วย นายพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 250 คน กล่าวว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปัจจุบัน การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สามารถผลิตได้เพียงปีละ 4-5 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 8 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวตามปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เพาะปลูกโดยอาศัยน้ำฝน โดยมีการปลูกช่วงต้นฤดูฝนคิดเป็น ร้อยละ 72 ช่วงปลายฤดูฝน คิดเป็น ร้อยละ 23 และช่วงฤดูแล้ง คิดเป็นร้อยละ 5 ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นฤดูฝนออกสู่ตลาดมากเกินกำลังการรับซื้อของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และประสบปัญหากับสภาพอากาศที่แปรปรวนของฝน รัฐบาลจึงได้มีนโยบายส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาให้มากขึ้น เพื่อกระจายผลผลิตที่เคยออกมากในฤดูฝน ให้มาออกมากในฤดูแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนาปรัง หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน ลดปริมาณข้าวเปลือกที่มีผลผลิตข้าวเกินความต้องการของตลาด กิจกรรมภายในงาน จัดให้มีฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน พร้อมวิทยากรจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สาธิตให้ความรู้ ได้แก่ ฐานการจัดการดิน การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย โดย สำนักงานพัฒนาที่ดินเชียงราย ให้ความรู้ด้านการจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และสอนแนะการจดบัญชีลงในโทรศัพท์มือถือผ่าน Application Smart ME โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงราย ฐานการเตรียมเมล็ดพันธุ์ การปลูก การให้น้ำและการดูแลรักษา โดย ผู้แทนจากภาคเอกชน ฐานโรคและแมลงศัตรู การป้องกันกำจัดและการใช้สารชีวภัณฑ์ โดย กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย ฐานการตลาด มาตรฐานการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดย สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย และฐานสินเชื่อและประกันภัย โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร